เกี่ยวกับเขาค้อ | การเดินทางมาเขาค้อ
 
 
 
Home > About Kao Kor



:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติเขาค้อ เป็นอุทยานแห่งชาติที่อยู่ระหว่างการดำเนินการสำรวจจัดตั้งใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ป่าท้องที่ อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ และอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ 304,521 ไร่

บริเวณพื้นที่ป่าที่จะประกาศกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติเขาค้อ เดิมเป็นวนอุทยานน้ำตกธารทิพย์ จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2538 มีเนื้อที่ประมาณ 14 ตารางกิโลเมตร หรือ 8,750 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาโปลกหล่น จากดำริของผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 (การประชุมสัมมนาหัวหน้าวนอุทยาน) ให้หัวหน้าวนอุทยาน สำรวจสภาพพื้นที่โดยรอบ มีศักยภาพและความเหมาะสมเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีนายชลธร ชำนาญคิด

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2544 ส่วนอุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) ได้สั่งนายเผชิญโชค เสนากาญจน์ เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 7 สำรวจสภาพและควบคุมพื้นที่ป่าบริเวณที่กรมประชาสงเคราะห์ส่งมอบคืน ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาโปลกหล่น และป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาปางก่อ และป่าวังชมภู รวม 3 แห่ง ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำสำคัญ 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำยม-น่าน ท้องที่ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า ตำบลน้ำก้อ ตำบลน้ำชุน ตำบลบุ่งน้ำเต้า และตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก ตำบลท่าพลและตำบลป่าเลา อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ตำบลแคมป์สน ตำบลทุ่งสมอ ตำบลริมสีม่วง ตำบลเขาค้อ ตำบลสะเดาะพง และตำบลหนองแม่นา อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อประกาศกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติเขาค้อ

อุทยาน แห่งชาติเขาค้อ มีความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทิวทัศน์ที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ เกาะ แก่ง หน้าผา จุดชมทิวทัศน์ แหล่งประวัติศาสตร์ของสมรภูมิการสู้รบ ระหว่างรัฐบาลกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เป็นเวลายาวนานจึงสงบ ปัจจุบันได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ผู้เสียสละจารึกชื่อผู้เสียชีวิตจากการสู้รบในสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อหมู่บ้าน/สะพานจะใช้ชื่อ/นามสกุล เป็นอนุสาวรีย์แก่ผู้เสียสละชีวิตหลายท่าน พระตำหนักเขาค้อที่สวยงาม สร้างไว้ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงเสด็จที่เขาค้อ เพชรบูรณ์ เป็นที่ประทับแรม ฯลฯ

:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
มีลักษณะเป็นภูเขาทอดยาวตามแนวทิศเหนือไปทิศใต้ ตอนบนสุดเป็นภูเขาสูงชัน มีความสูง จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 155 เมตร จนถึง จุดสูงสุด 1,593 เมตร และเนื่องจากภูเขาในแถบนี้เป็นภูเขาที่เกิดจากการยกตัวในอดีตทำให้มีลักษณะ เป็นภูเขาหินทรายยอดราบ หรือมีที่ราบอยู่บานยอดเขา เช่น แหล่งท่องเที่ยวของเพชรบูรณ์ “ภูทับเบิก” เป็นภูสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,786 เมตร และบริเวณตอนใต้ของพื้นที่สำรวจในเขตอำเภอเขาค้อ และอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ (บริเวณเขาย่า) จะมีลักษณะเป็นสันเขายาวลาดลงทางทิศเหนือ – ตะวันตก แต่บริเวณเชิงเขาค้อ ในเขตอำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก อำเภอเขาค้อ (ทางส่วนตะวันตก) จะเป็นหน้าผาสลับซับซ้อน อันเนื่องมาจากการกัดเซาะ เพราะบริเวณขอบเขานั้น เป็นหินทรายที่ยังจับตัวกันไม่แน่น ทำให้ง่ายต่อการกัดเซาะ

:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
ลักษณะภูมิอากาศที่ทำการศึกษา ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน จากการรวบรวมข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศ ตั้งอยู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาค้อ ที่ 33 หมู่ 11 ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ UTM 276434 ซึ่งเริ่มเก็บสถิติ เมื่อเดือนมิถุนายน 2542 ซึ่งจะเห็นได้ว่า จากการที่พื้นที่อยู่ในที่สูง จึงมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ อีกทั้งปริมาณน้ำฝนและความชื้นสัมพัทธ์ค่อนข้างสูง โดยแบ่งให้เห็นชัดเจน ดังนี้

ฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน-กลางเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิค่อนข้างหนาวเย็น
ฤดูร้อน ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 21.93 องศาเซลเซียส อากาศค่อนข้างร้อนช่วงกลางวัน
ฤดูฝน ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝนค่อนข้างสูง ถึงประมาณ 1,425.75 มิลิเมตรต่อปี มีฝนตกปีละ 126 วัน จะมีฝนตกชุก 70% ของทั้งปี

:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
ป่าไม้ของอุทยานแห่งชาติเขาค้อ มีทั้งป่าธรรมชาติและป่าปลูก (ส่วนใหญ่เป็นป่าปลูกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของเนื้อที่) ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ (ประเภทที่ไม่มีไม้สัก) ป่าเต็งรังหรือป่าแดง ป่าดงดิบ ทุ่งหญ้า พันธุ์ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ยาง สัก ประดู่ แดง มะค่าโมง เต็ง รัง ตะเคียนทอง สนเขา ก่อ สมุนไพร กล้วยไม้ป่าต่างๆ ฯลฯ

สภาพป่าดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัย/แหล่งอาหาร/ที่หลบภัยของสัตว์ป่า เช่น ช้างป่า เสือไฟ หมูป่า กระจง เม่น กระต่ายป่า ค่าง อีเห็น ตะกวด ไก่ป่า ลิงลมหรือนางอาย งูชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีนกชนิดต่างๆ อีกกว่า 100 ชนิด และความหลากหลายของผีเสื้อ

:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติเขาค้อ
33 หมู่ที่ 11 ต.บุ้งน้ำเต้า อ. หล่มสัก จ. เพชรบูรณ์ 67110
โทรศัพท์ : 08-1226-0565

:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม

น้ำตกศรีดิษฐ์ เป็นน้ำตกที่นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเขาค้อ ต้องมาเที่ยวชม เนื่องจากเส้นทางต่อเนื่องกับการเที่ยวชมทัศนียภาพในกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวเขาค้อ โดยการเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2196 จากแยกแคมป์สนไปประมาณ 18 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2325 อีกประมาณ 10 กิโลเมตร ตัวน้ำตกศรีดิษฐ์เป็นหินชั้นขนาดใหญ่ มีน้ำตกตลอดทั้งปี นักท่องเที่ยวสามารถพักผ่อน รับประทานอาหาร ลงเล่นน้ำ และซื้อของที่ระลึกของชาวเขากลับบ้านได้ที่น้ำตกนี้ เดิมเคยเป็นที่อยู่ของกลุ่ม ผกค. ซึ่งยังปรากฎหลักฐาน และสิ่งของเครื่องใช้หลายอย่างของกลุ่ม ผกค.ในบริเวณน้ำตก เช่นครกตำข้าวที่ ผกค. สร้างขึ้นโดยใช้พลังน้ำตกช่วยเคลื่อนกังหันตำข้าว เป็นต้น

น้ำตกธารทิพย์ ตั้งอยู่ในตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก จากหลักกิโลเมตร 250 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) สี่แยกบุ่งน้ำเต้า (แยกศาลหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์) เข้าไปทางหลวงจังหวัดหลายเลข 2302 (สายบุ่งน้ำเต้า-ทุ่งสมอ) ระยะทาง 4 กิโลเมตร และมีทางแยกเข้าน้ำตกระยะทาง 2.4 กิโลเมตร สภาพน้ำตกเป็นน้ำตกชั้นเดียว สูงประมาณ 26 เมตร กว้างประมาณ 30 เมตร ตลอดเส้นทางจะมีจุดให้ศึกษาธรรมชาติ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี บริเวณหน้าน้ำตกมีแอ่งน้ำใหญ่และมีหาดทรายสวยงามตระการตา เหมาะสำหรับเล่นน้ำ

น้ำตกวังน้ำริน เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีน้ำผุดตลอดทั้งปี สูงประมาณ 5 เมตร เต็มไปด้วยเฟิร์นนานาชนิด อยู่ห่างจากน้ำตกธรทิพย์ ประมาณ 150 เมตร เหนือวังน้ำรินขึ้นไปจะเป็นจุดชมทิวทัศน์สามารถมองเห็นทัศนียภาพของน้ำตกธารทิพย์ได้อย่างชัดเจน

น้ำตกขั้นบันได เป็นน้ำตกมีลักษณะคล้ายขั้นบันไดบ้าน ประมาณ 20 กว่าขั้น อยู่ตอนเหนือน้ำของน้ำตกธารทิพย์ประมาณ 4 กิโลเมตร นอกจากนี้ตามริมลำธารยังมีความสวยงามร่มรื่นเหมาะสำหรับการพักผ่อน

น้ำตกแก่งเลียงผา เป็นน้ำตกที่มีอดีตเล่าต่อกันมาว่า ได้มีเลียงผาอาศัยอยู่บริเวณนี้เป็นจำนวนมาก น้ำตกแก่งเลียงผาอยู่ตอนเหนือน้ำของน้ำตกขั้นบันไดประมาณ 300 เมตร มีลักษณะเป็นลานหินกว้างและเป็นหน้าผาที่สูงชันที่มีความงดงามตามธรรมชาติ

น้ำตกตาดฟ้า ตั้งอยู่ทางตอนเหนือในเขตอำเภอหล่มเก่า และอำเภอหล่มสัก ทางเข้าน้ำตกตาดฟ้าแยกจากทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2008 ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นน้ำตกชั้นเดียว มีความสูงประมาณ 40 เมตร กว้างประมาณ 100 เมตร เป็นน้ำตกที่มีความสูงและใหญ่ที่สุดของอุทยานแห่งชาติเขาค้อ เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบผจญภัยเดินป่าชมธรรมชาติหรือล่องแก่งล่องน้ำตามลำธาร

น้ำตกวังตุ้ม อยู่ในเขตตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ การเดินทางจากตำบลแคมป์สนไปยังบ้านดงหลง แล้วเดินเท้าต่ออีกประมาณ 1 กิโลเมตร น้ำตกวังตุ้มมีความสูงประมาณ 40 กิโลเมตร อยู่ในห้วยซำม่วง ด้านหน้ามีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับการพักผ่อน

น้ำตกผาลาด อยู่ในท้องที่ตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก สามารถเดินทางเข้าไปยังที่ทำการวนอุทยานน้ำตกธารทิพย์ แล้วเดินตามเส้นทางเดินป่าอีกประมาณ 5 กิโลเมตร หรือเดินทางไปยังบ้านหัวนา ตำบลบุ่งคล้า แล้วเดินตามทางเดินป่าอีกประมาณ 2 กิโลเมตร น้ำตกผาลาดเป็นน้ำตกจากหน้าผาเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบเดินป่า จากน้ำตกผาลาดสามารถเดินตามทางเดินป่าเชื่อมต่อไปยัง น้ำตกธารทิพย์ น้ำตกขั้นบันได จุดชมวิวเขาแก้ว น้ำตกห้วยจอก ซึ่งจะผ่านสภาพป่าที่หลากหลายและวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม

น้ำตกห้วยใหญ่ อยู่ในเขตตำบลท่าพล อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ การเดินทางยังไม่สะดวก เดินทางเข้าถึงได้เฉพาะฤดูหนาว-ร้อน จากบริเวณบ้านอมชี ตำบลท่าพล ไปทางตะวันตกเข้าไปตามทางอีกประมาณ 8 กิโลเมตร แล้วเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร หรือจะเดินป่าจากน้ำตกธารทิพย์ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร น้ำตกห้วยใหญ่มีขนาดใหญ่ ความสูงประมาณ 12-20 เมตร

ถ้ำใหญ่น้ำก้อ ทางเข้าแยกจากทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2008 ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่บนหน้าผาเขาน้ำก้อใหญ่ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,023 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านน้ำก้อและใกล้เคียง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของอำเภอหล่มสักได้ไกลมาก

ถ้ำสมบัติ จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 เข้าไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2001 ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเล่ากันว่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นำทองแท่ง สมบัติของประเทศมาซ่อนและหลบภัยในถ้ำจึงมีชื่อว่า “ถ้ำสมบัติ” เนื่องจากมองเห็นสภาพภูมิประเทศของเพชรบูรณ์ มีลักษณะเป็นภูเขาล้อมรอบ เหมาะที่จะตั้งเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย (นครบาล) เมื่อ พ.ศ. 2485

จุดชมทิวทัศน์ดอยน้ำเพียงดิน อยู่ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2331 หลักกิโลเมตรที่ 13 จะมองเห็นทิวทัศน์ อำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ภูหอ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ภูผาจิต อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว

จุดชมทิวทัศน์สวนรัชมังคลาภิเษก ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 หลักกิโลเมตรที่ 108 ทิวทัศน์ผาซ่อนแก้ว เขาน้ำก้อใหญ่ ผาดำ

น้ำตกสามสิบคต น้ำตกชั้นเดียวที่มีความสวยงาม/น้ำใส เหมาะแก่การพักผ่อน

เนินมหัศจรรย์ ตามเส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2258 (นางั่ว-สะเดาะพง) กิโลเมตรที่ 17.50 ความมหัศจรรย์ของถนนเมื่อขับรถยนต์ถึงจุดนี้ ให้จอดและดับเครื่อง รถยนต์จะถอยหลังขึ้นเนินได้เอง (เป็นภาพลวงตา)

แก่งบางระจัน หรือแก่งหนองแม่นา เป็นแก่งน้ำในลำน้ำเข็กมีความยาวหลายกิโลเมตร กันเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงกับอุทยานแห่งชาติเขาค้อ พบแมงกระพรุนน้ำจืด (ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่หายาก) โขดหินสวยงามเป็นขั้นๆ ลำน้ำเข็ก (แม่น้ำวังทอง) ไหลผ่านตลอดทั้งปี สภาพป่าสมบูรณ์ดีมาก สัตว์ป่านานาชนิดรวมทั้งผีเสื้อ

ป่าเปลี่ยนสี ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2302 (บุ่งน้ำเต้า-ทุ่งสมอ) และทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2258 (นางั่ว-สะเดาะพง)

น้ำตกภูทับเบิก ตั้งอยู่บ้านทับเบิก ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่าเป็นน้ำตกชั้นเดียว มีความสูงประมาณ 300 เมตร พิกัด 47 Q 0726695 E 1871286 N ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 958 เมตร จากทางหลวง 2331 เข้าเส้นทางบ้านทับเบิก หมู่ 16 ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร เส้นทางสู่ตัวน้ำตกประมาณ 1,500 เมตร เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบผจญภัยเดินป่าชมธรรมชาติ สภาพป่าสมบูรณ์และมีความสวยงาม เหมาะแก่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

น้ำตกห้วยจอก อยู่ในเขตตำบลท่าพล อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ การเดินทางเข้าถึงอยู่ในเกณฑ์ไม่สะดวก จากบริเวณบ้านอมชี ตำบลท่าพล ไปทางตะวันตก เข้าไปตามทางลูกรังระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร แล้วเดินเท้าต่ออีกประมาณ 4 กิโลเมตร หรือนักท่องเที่ยวสามารถเดินป่าจากน้ำตกธารทิพย์ ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก จำนวน 3 ชั้น น้ำชั้นที่ 1 สูงประมาณ 10 เมตร ด้านหน้าน้ำตกมีแอ่งน้ำ

จุดชมวิวยอดเขาโปลกหล่น จุดชมวิวยอดเขาโปลกหล่น อยู่ริมทางหลวงหมายเลข 2302 (บุ่งน้ำเต้า-ทุ่งสมอ) ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,000 เมตร เป็นลานดินบนยอดเขาและป่าสน มองทิวทัศน์ได้รอบทิศทาง (360 องศา) จะมองเห็นอำเภอเขาค้อทั้งอำเภอ

น้ำตกตาดเพชร อยู่บริเวณบ้านเพชรช่วย ตำบลสะเดาะพง อำเภอเขาค้อ เป็นน้ำตกที่ค้นพบขึ้นใหม่ มีความสูงหลายชั้น แต่ละชั้นของน้ำตกมีความสวยงามและมีป่าสมบูรณ์ พิกัดน้ำตก 47 Q 0713662 E 1829641 N

น้ำตกหิมาลัย เป็น น้ำตกที่ค้นพบใหม่ อยู่ในท้องที่ตำบลป่าเลา อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ กั้นระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาค้อกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง-ชนแดน เป็นน้ำตกชั้นเดียว มีความคล้ายกับน้ำตกแก่งโสภา มีแอ่งน้ำสามารถเล่นน้ำได้ มีสัตว์ป่ามากกว่า 100 ชนิด เดินทางเข้าไปด้านหลังพระตำหนัก ประมาณ 20 กิโลเมตร น้ำตกมีความสวยงามเหมาะการท่องเที่ยวแบบผจญภัย พิกัดน้ำตก 47 Q 707329 E 818746 N

ไร่ บี.เอ็น เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย จากผู้ที่มาเที่ยวเขาค้อ จุดเด่นอยู่ที่ความสามารถในการทำการเกษตรเชิงวิชาการแผนใหม่ มาปรับปรุงพัฒนาใช้กับพืชผลในไร่ จนกลายเป็นแหล่งสำคัญในการผลิต และการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรสำหรับไม้เมืองหนาว ที่นี่มีพืชผัก ผลไม้ที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันตามฤดูกาลมากมาย จากพื้นที่การเกษตรนับพันไร่ จึงไม่ควรพลาดจะแวะชม และเลือกซื้อพืชผลเหล่านี้ เป็นของฝากติดมือ ที่ระลึกจากเขาค้อ ผลไม้เมืองหนาวที่หาได้จากไร่บี.เอ็น. มีมากมาย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามฤดูกาล เช่น สตรอเบอร์รี่ ลิ้นจี่ น้อยหน่า อโวคาโด้ ลูกพลับ ผักต่างๆ เช่น แครอท บีทรูท แตงกวาญี่ปุ่น ฟักแม้ว ผักกาดแก้ว บรอคเคอรี่ และดอกไม้สวยๆ สำหรับเมืองหนาว เช่น คาร์เนชั่น แกลดิโอลัส แอสเตอร์ ซึ่งหาซื้อกันได้ในเรือนจัดแสดงสินค้า และจำหน่ายพืชพรรณของทางไร่ นอกจากนี้ยังมีสินค้าแปรรูป ประเภท ไอศกรีม แยมผลไม้ น้ำผลไม้ ผลไม้อบแห้ง ผลไม้แช่อิ่มประเภทต่างๆ

จุดชมวิวผาขาว อยู่ห่างจากพระตำหนักเขาค้อ ประมาณ 10 กิโลเมตร ความสูง 1,200 เมตร สามารถมองเห็นตัวเมืองเพชรบูรณ์ และอ่างเห็บน้ำเขื่อนป่าแดง

จุดชมทิวทัศน์ยอดเขาย่า (ศาลาพระเทพ) อยู่ยอดเขาย่า (ที่ตั้งพระตำหนักเขาค้อ) ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,305 เมตร ทางขึ้นเป็นบันได ระยะทาง 770 เมตร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีได้เคยเสด็จขึ้นไป ณ ศาลาแห่งนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ 360 องศา

:: ด้านประวัติศาสตร์ ::
ศาลหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์ ศาลหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์หรือศาลเมืองหลวงเพชรบูรณ์ มีกำเนิดจากการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพมหานคร ไปอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อหลบภัยสมครามโลก ครั้งที่ 2 ตามพระราชกำหนดระเบียบการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และสร้างพุทธบุรี พ.ศ. 2487 เพื่อความเป็นสิริมงคลของเมืองหลวงแห่งใหม่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงได้กระทำพิธีฝังเสาหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2487 ศาลหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์ ทำด้วยไม้มงคล 9 ชนิด เสาสร้างด้วยไม้ชัยพฤกษ์ 8 เหลี่ยม ยอดเส้นเป็นหัวเม็ดทรงมน ด้านล่างประดับรอบด้วยไม้มงคล 8 ชนิด ปัจจุบันศาลหลักเมืองฯ สร้างเป็นทรงจตุรมุขยอดหกปรางค์ สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์

ศาลาพระเทพ อยู่ยอดเขาย่า (ที่ตั้งพระตำหนักเขาค้อ) ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,305 เมตร ทางขึ้นเป็นขั้นบันได ระยะทาง 770 เมตร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เคยเสด็จขึ้นไป ณ ศาลาแห่งนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ 360 องศา

พระตำหนักเขาค้อ เป็นพระตำหนักที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่บนเขาย่า สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,100 เมตร จัดสร้างโดยบรรดาข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ภายหลังการต่อสู้ด้วยอาวุธกับ ผกค. สิ้นสุดลงแล้ว จึงได้รวบรวมทุนทรัพย์ ริเริ่มการก่อสร้าง พระตำหนักเขาค้อ ขึ้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนในพื้นที่ และเป็นที่ทรงงาน และแปรพระราชฐานมาประทับแรม ในวโรกาสที่พระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จมาตรวจเยี่ยมโครงการตามพระราชดำริ ในพื้นที่เขาค้อ ภายในพระตำหนักประกอบด้วยอาคารเชื่อต่อกันลักษณะรูปวงแหวน มีเรือนข้าราชบริพารเป็นส่วนเชื่อมต่อกับพระตำหนัก อาคารมีลักษณะโค้ง 2 ชั้น ชั้นบนมี 2 ห้องใหญ่ ซึ่งเป็นห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ชั้นล่างประกอบด้วย ห้องพระราชทานเลี้ยง ซึ่งมีห้องครัวอยู่ทางด้านหน้า , ห้องเสวย , ห้องเข้าเฝ้า และห้องโถงใหญ่

พระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก ตั้งอยู่บนเขาค้อ ริมทางหลวงหมายเลข 2196 อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเขาค้อไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร จะเห็นพระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก อยู่ติดถนนด้านขวามือ เป็นเจดีย์ที่มีสถาปัตยกรรมผสมผสานทั้งแบบสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปให้ประชาชนได้สักการะบูชา ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอัฐธาตุของพระพุทธเจ้า ที่อัญงครัวอยู่ทางด้านหน้า , ห้องเสวย , ห้องเข้าเฝ้า และห้องโถงใหญ่

อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ เขาค้อเคยได้ชื่อว่าเป็นดินแห่งคอมมิวนิสต์ เป็นพื้นที่สีแดงที่คุกรุ่นไปด้วยควันไฟของการสู้รบจากผู้ที่มีแนวคิดทางการ เมืองที่แตกต่างกัน (ช่วง พ.ศ. 2511-2525 ) ในยุคที่เขาค้อถือเป็นดินแดนต้องห้ามที่คนทั่วไปไม่ควรเฉียดเข้าไปใกล้แม้แต่น้อย เพราะถือว่าอันตรายสุดๆ แต่เมื่อเวลาผันผ่านไป ความขัดแย้งยุติลง เขาค้อปรับเปลี่ยนกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่น และสวยงามมีเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์

สิ่งอำนวยความสะดวก
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ
ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติมีที่พักชั่วคราวและสถานที่กางเต็นท์ให้บริการนักท่องเที่ยว ขอให้ติอต่อสอบถามรายละเอียดกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
บริการอาหาร อุทยานฯ มีร้านอาหารไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว

ข้อมูล : http://www.relaxzy.com/province/phetchabun/khaokor.html
ข้อมูล : http://www.kaokor.com


ไม่แสดงข้อมูล
 
 Copyright 2009 Forest Hills2. All rights Reserved. Untitled Document